วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา 
เทคโนโลยีเพื่อการปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูปการเรียนรู้ นับเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เพราะกระบวนการที่สำคัญที่สุดของการศึกษา คือ กระบวนการเรียนรู้ การสอนให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ จนเขาสามารถสรุปเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นได้ เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้น ความสำเร็จของการจัดการศึกษาอยู่ที่ผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งผมคิดว่าเป็นการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั่นเอง
กระแสแห่งการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของไทยในยุคแห่งความเป็นโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โดยเฉพาะในด้านการจัดการศึกษาเพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ให้ก้าวทันสังคมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น คือกระแสของ “การปฏิรูปการศึกษา (Educational Reform) นั่นเอง ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการปรับรื้อระบบบริหารจัดการด้านการศึกษาครั้งสำคัญของสังคมไทย เป็นยุทธศาสตร์ทางภูมิปัญญาเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของระบบการศึกษาของชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางสังคมที่หลากหลายและรุนแรง สามารถพัฒนาการศึกษาให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกในปัจจุบัน
การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่หมักหมมมานานจำเป็นต้องใช้หลักการและวิธีการใหม่ๆ จึงจะแก้ไขได้สำเร็จ จากการศึกษาวิเคราะห์ของสำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) เกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษาไทย ที่ผ่านมา จะพบปัญหาสำคัญ 6 เรื่อง สรุปได้ ดังต่อไป
    1. ปัญหาด้านการบริหารจัดการศึกษา มีการบริหารแบบรวมอำนาจไว้ส่วนกลางมากเกินไป มีองค์กรที่มีภารกิจการทำงานที่ซ้ำซ้อน เกิดความล่าช้าในทางปฏิบัติ ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน
    2. ปัญหาด้านครู ไม่มีคนเก่งเข้ามาประกอบอาชีพครู ไม่ได้รับการส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาชีพ ครูขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
    3. ปัญหาด้านหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ หลักสูตรระดับต่างๆ ไม่สอดคล้องกับชีวิตจริงในชุมชน และก้าวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางบริบทของสังคม
    4. ปัญหาด้านการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา มีระบบการจัดสรรงบประมาณที่ด้อยประสิทธิภาพแม้ว่าจะได้รับงบประมาณจัดสรรมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม
    5. ปัญหาด้านสื่อและเทคโนโลยี ปัจจุบัน แม้จะมีเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่สื่อต่างๆ กลับมีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่น้อยมากและไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
    6. ปัญหาด้านระบบตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาเป็นเพียงการประเมินตามนโยบาย ขาดการนิเทศให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาในการดำเนินงาน
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น จึงได้เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมครั้งสำคัญเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของไทยจากกลุ่มคนทุกฝ่ายที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาของชาติ บังเกิดเป็นกฎหมายการศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างและพัฒนาการจัดการศึกษาของไทยภายใต้นัยแห่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 นั่นคือ “พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542” ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา
การใช้เทคโนโลยีเพื่อการปฏิรูปการศึกษา
สื่อและเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกระดับและทุกระบบของการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัยที่ปรากฏในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในหลายหมวดและหลายมาตราด้วยกัน และที่สำคัญ การปฏิรูปการศึกษานั้นต้องมุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียนเป็นสำคัญให้เกิดการพัฒนาตามศักยภาพความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละบุคคล
ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวดที่ 9 ได้กล่าวถึงเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (มาตรา 63-69) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของการใช้เทคโนโลยีเพื่อปฏิรูปการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่มีความครอบคลุม กว้างขวาง และมีความเป็นเอกภาพ ทั้งการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐาน การจัดตั้งกองทุน การสร้างมาตรฐานทางเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการปรับใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนให้บังเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
กล่าวกันว่าการปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้นจะต้องเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบขั้นตอนมีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน ครอบคลุมกระบวนการจัดการศึกษาทั้งระบบ การปฏิรูปเทคโนโลยีการศึกษาทั้งระบบสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้


    1. การปฏิรูปความคิดของบุคลากร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความคิดของผู้บริหาร ผู้ผลิตและเผยแพร่ ต้องได้รับการปฏิรูปความคิดเป็นเบื้องต้น เพราะบุคลากรเหล่านี่จะเป็นกลุ่มสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีไปสู่การปฏิบัติจริงในสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ หากบุคลากรไม่สนใจ ไม่ยอมรับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง เกิดทัศนคติเชิงลบแล้ว การปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจะบังเกิดขึ้นได้ยากและขาดประสิทธิภาพ
    2. การปฏิรูปการผลิต เนื่องจากเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสื่อวัสดุอุปกรณ์และโปรแกรมการเรียนรู้ต่างๆ ที่ถูกผลิตหรือสร้างขึ้นมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งจะต้องมีการสำรวจความต้องการของผู้ใช้เป็นเบื้องต้น เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาตรงกับวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมาย ใช้ประโยชน์ได้จริง มีกระบวนการผลิตที่สั้น กระชับ พร้อมทั้งพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือให้ทันสมัย ทำให้สื่อการศึกษามีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการเรียนรู้
    3. การปฏิรูปการเผยแพร่ ต้องมีการประชาสัมพันธ์และนำกลุ่มเป้าหมายให้รับรู้ข่าวสาระที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้ทั่วถึงและหลากหลาย เป็นระบบการเผยแพร่ที่เป็นระบบเปิด กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปสามารถรับรู้จากสื่อได้โดยตรง กว้างขวาง และที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงศักยภาพผู้ใช้ ความพร้อมในปัจจัยต่างๆ พร้อมกันไปด้วย
    4. การปฏิรูประบบตรวจสอบและประเมินผล เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญต่อการสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพและคุ้มค่า เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาสื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ดังนั้น ระบบดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มวางกรอบความคิดสู่การผลิตเป็นสื่อสำเร็จ เมื่อนำไปใช้ต้องมีการประเมินทั้งก่อนและหลังการใช้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าผลผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐานที่ต้องการ
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเห็นได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยดำเนินงานตามที่กำหนดเป็นกฎหมายการศึกษาของชาติ ทั้งนี้ “เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา” จะเป็นศาสตร์สำคัญแขนงหนึ่งของการปฏิรูปที่จะช่วยปรับปรุง พัฒนา และยกระดับมาตรฐานการศึกษาของชาติให้บังเกิดคุณภาพและประสิทธิภาพได้ การปฏิรูปการศึกษาโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญของการปรับเปลี่ยนต้องส่งผลโดยตรงไปสู่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ในการจัดการศึกษาต้องตระหนักและช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐานให้ก้าวสู่เป้าหมายโดยรวมได้ในอนาคต โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
บรรณานุกรม
    1. วารสารวิชาการ โดยกรมวิชาการ
    2. คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ , สำนักงาน. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
    3. ศูนย์เทคโนโลยีอิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์
    4. สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการทางเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ไอที 2000: นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเลกทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ พ.ศ. 2539
    5. โครงการงานพัฒนาการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
เว็บไซต์ www.techports.com
www.thaipresentation.com
www.moe.go.th
www.jananet.com
www.mis.moe.go.th
ฉัตรชัย มณีนาค
อาจารย์ 2 ระดับ 5
โรงเรียนบ้านป่ากั้งวิทยา
สำนักงานประถมศึกษาอำเภอท่าปลา
จ.อุตรดิตถ์
พื่อเพิ่มข้อความ


แหล่งอ้างอิง : วารสารวิชาการ โดยกรมวิชาการ


โดย : นาย ฉัตรชัย มณีนาค, ร.ร. ป่ากั้งวิทยา, วันที่ 5 มกราคม 2546





รู้จัก Education 3.0 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษายุคใหม่ PDFพิมพ์อีเมล
เขียนโดย Moderator   
วันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2009 เวลา 21:09 น.

      

        ขณะนี้แนวคิดและเทคโนโลยีที่สนับสนุนการใช้งาน Web 2.0 กำลังได้รับความสนใจในวงกว้าง และมีการคาดการณ์ของวงการศึกษาในระดับโลกว่า รูปแบบการเรียนการสอน การจัดหลักสูตร และการบริหารจัดการการศึกษา รวมทั้งงานวิจัยจะต้องมีการผลิกผันเปลี่ยนโฉมไปอย่างมากในอนาคต

        ตัวอย่างที่สำคัญและชัดเจนก็คือ การจัดการเรียนการสอน ได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่อาจารย์จะเป็นต้นตอความรู้เพียงหนึ่งเดียว แต่ปัจจุบัน อาจารย์ กลายมาเป็น ผู้ประสานและกำหนดทิศทางของความรู้ที่ได้จากการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ต่างๆ เช่น หนังสือเรียน ห้องสมุด ข้อมูลชุมชน สื่อสารมวลชน ฐานข้อมูลออนไลน์ไปจนถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
        ผู้บริหารไอทีในสถานศึกษา หน่วยงานรัฐ ตลอดจนนักวิจัย และครูอาจารย์ในอนาคตจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานทางเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมทางการศึกษา แนวคิดและรูปแบบใหม่นี้จะเรียกว่า Education 3.0 โดยมีพื้นฐานมาจาก แนวคิด Web 2.0 ที่ปรับใช้เทคโนโลยีในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาและมีแนวโน้มเน้นหนักไปที่การสนับสนุนการทำงานร่วมกันในแบบออนไลน์ การแบ่งความรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้เรียน โดยขณะนี้มีความพร้อมและการเติบโตมากับเทคโนโลยีเครือข่ายอย่างระบบอินเทอร์เน็ต ที่กลุ่มผู้เรียนมีความพร้อมในเทคโนโลยีดังกล่าว และกำลังเรียกร้องการเรียนที่ตอบสนองต่อการใช้งานผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์กมากขึ้น
       สำหรับ Education 3.0 คือ แนวคิดทางการเรียนรู้ใหม่ล่าสุดที่ทั้งสถาบันการศึกษาและผู้เรียนสามารถเชื่อมต่อถึงกันอย่างซับซ้อนผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์กได้จากทุกสถานที่ในทุกเวลา ในขณะที่เทคโนโลยีการเรียนรู้แบบต่างๆ ทั้งการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ตลอดจนการเรียนรู้เทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive Learning) จะก้าวเข้ามามีบทบาทในการประสานกระบวนการเรียน การสอนในสถาบันการศึกษาจริงและการเรียนรู้ทางไกลทั้งในปัจจุบันและอนาคต

       การเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีเสมือนจริง เป็นแนวคิดใหม่ที่ท้าทายการเรียนการสอนแบบออนไลน์ โดยการจำลองสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ลักษณะเกือบเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทดลองในห้องแล็บของสถานศึกษาจริง แต่ผู้เรียนอยู่คนละสถานที่รวมทั้งเลือกวันเวลาที่จะเข้ามามีส่วนร่วมได้สะดวกในลักษณะออนดีมานด์ โดยแนวคิดที่กำลังพัฒนาขึ้นนี้จะช่วยลดช่องว่างของการเรียนการสอนออนไลน์แบบเดิมที่ผู้เรียนไม่ได้มีส่วนร่วมกับหลักสูตรเท่าที่ควร


       นายแอนดรูว์ ลิม ผู้อำนวยการส่วนงานขายภาครัฐ การศึกษา และสาธารณสุข ประจำพื้นเอเชียแปซิฟิก บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ กล่าวว่า ซัน กำลังมุ่งเน้นซอฟต์แวร์ Education 3.0 ไปที่วงการศึกษา เนื่องจากในขณะนี้การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่ในตำราและสถานศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่สามารถที่จะหาข้อมูลและเชื่อมต่อประสานกันในการเรียนรู้ผ่านซอฟต์แวร์ Education 3.0 ที่เชื่อมโยงประสานระหว่างสถานศึกษา และชุมชนของการเรียนรู้ ตลอดจนตัวผู้เรียนเอง โดยผ่านเน็ตเวิร์กและทูลแบบโอเพ่นซอร์สการเรียนการสอนผ่านเว็บ และคอนเทนต์เนื้อหารายวิชาแบบเปิดกว้างแต่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ
          
       ผอ.ส่วนงานขายภาครัฐ การศึกษา และสาธารณสุข บริษัท ซันฯ กล่าวต่อว่า ซัน จึงคิดค้นและออกแบบซอฟต์แวร์ Education 3.0เพื่อผลักดันให้มีการใช้งานไปยังสถาบันทางการศึกษาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้มีความพร้อมปรับใช้งานกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและรูปแบบการให้บริการที่จะเปลี่ยนไป โดยซัน ได้ฝึกอบรมวิธีการใช้งานระบบกับตัวแทนนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ไปแล้ว 500 คนทั่วโลก เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถนำโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นำไปปรับกับใช้ในสถาบันการศึกษาของตน และในขณะนี้ซัน มีศูนย์เฉพาะทางที่คอยให้ความรู้อบรมถึง 80 ศูนย์ ส่วนในระยะแรกนี้ทางบริษัทฯตั้งเป้าตั้งแต่ก.ค.51-ก.ค.52 จะมีนักศึกษาประมาณ 5 แสนคนที่ใช้เทคโนโลยีของบริษัท
       “ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ผู้บริหารไอมีในสถาานศึกษา หน่วยงานรัฐ ตลอดจนนักวิจัย และครูอาจารย์ในอนาคตจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในพื้นฐานทางเทคโนโลยี ที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมทางการศึกษา แนวคิดและรูปแบบใหม่ และปรับใช้เทคโนโลยีทั้งในด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาและมีแนวโน้มเน้นไปที่การสนับสนุนการทำงานร่วมกันในแบบออนไลน์ การแชร์ความรู้ร่วมกันหมู่ที่เรียน“ นายแอนดรูว์ กล่าว
ด้าน ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซอฟต์แวร์ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวคิดในการเรียนการสอนในขณะนี้และอนาคตได้เปลี่ยนไป ในขณะนี้สถานศึกษาทั่วโลกตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษากำลังเร่งปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยทุกสถาบันต้องรับมือกับบริการต่างๆ ที่ต้องบริการให้กับผู้เรียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในทุกที่ทุกเวลา รวมถึงในเรื่องของคอนเทนต์ออนไลน์และเนื้อหาประกอบการเรียนการสอนที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและความหลากหลาย ที่มีตั้งแต่ข้อความตัวอักษร ไปจนถึงภาพเคลื่อนไหว หรือ วีดีโอ ตลอดจนเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบเสมือนจริง อื่นๆ ที่ต้องใช้ระบบไอทีแบบโอเพ่นซอร์สที่ยืดหยุ่นและประหยัดในการใช้งานมากกว่าระบบเดิมมาสนับสนุน

        “ซันมีประสบการณ์มากมายในการสนับสนุนโซลูชันไอทีให้กับแวดวงภาครัฐ การศึกษา และสาธารณสุข ได้ช่วยให้ซันพร้อมเสมอในการแบ่งปันวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ตลอดจนแชร์ประสบการณ์การนำไปปฏิบัติใช้จริงในสถานศึกษาชั้นนำทั่วโลกที่เป็นลูกค้าผู้ใช้งานนับตั้งแต่ระบบเซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ ซอฟต์แวร์ และเซอร์วิสต่างๆ โดยพร้อมนำเสนอโซลูชันที่นำสมัยที่จะมาเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค Education 3.0 และช่วยแก้ไขปัญหาให้กับแวดวงการศึกษา รวมไปถึงนโยบายอื่นๆ ด้านหน่วยงานภาครัฐและสาธารณสุขของประเทศไทย เพื่อแสดงความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตต่อไป” ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซอฟต์แวร์ บ.ซันฯ กล่าว

        คงเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า สถาบันการศึกษา ในทุกระดับกำลังให้ความสำคัญและหันความสนใจมาที่ตัวเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องขบคิดกันต่อไปคือ เทคโนโลยีใหม่ๆในด้านการศึกษานี้จะส่งผลอย่างไรต่อ การใช้งานของผู้เรียน งานสอน งานวิจัย ในด้านต่างๆ...
บทความจาก : ไทยรัฐ